Popular Posts

Wednesday, February 27, 2013

เเนวทางการเปิดร้านค้าปลีกสมัยใหม่

เเนวทางการเปิดร้านค้าปลีกสมัยใหม่

การเปิดร้านค้าปลีกสมัยใหม่คือ

เอาง่ายๆเลย คือ สินค้าหลากหลาย ต้องเดินสะดวก หยิบของได้ง่าย ชำระเงินได้เร็ว มีเเอร์  เเค่นี้เเหละครับ
เพิ่มเติม
ประเภทธุรกิจค้าปลีก

รูปแบบธุรกิจค้าปลีก

ประเภทธุรกิจค้าปลีก รูปแบบธุรกิจค้าปลีก พัฒนาเปลี่ยนจากร้านค้าเล็กๆ เป็นขนาดใหญ่ ต้นทุนดำเนินงานสูงกว่ารูปแบบเดิม บริหารงานเป็นระบบมากขึ้น และใช้บุคลากรดำเนินการจำนวนมาก ปัจจุบัน จำแนกธุรกิจค้าปลีกได้ตามลักษณะสินค้า และการดำเนินงาน ดังนี้

ร้านค้าปลีกดั้งเดิม (Tradition Trade) หรือร้านโชห่วย ลักษณะร้านเป็นห้องแถว พื้นที่คับแคบ ไม่มีการตกแต่งหน้าร้านมากมาย สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค การจัดวางสินค้าไม่เป็นหมวดหมู่ และไม่ทันสมัย และจัดวางตามความสะดวกการหยิบสินค้า

เป็นกิจการดำเนินงานโดยเจ้าของคนเดียว หรือร่วมกันตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน ดำเนินธุรกิจแบบครอบครัว เงินลงทุนน้อย บริหารงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัย ทำให้ระบบการจัดการไม่ได้มาตรฐาน ลูกค้าเกือบทั้งหมดอยู่บริเวณใกล้เคียงร้านค้า ร้านค้าที่จัดอยู่ประเภทนี้ เช่น ร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีกทั่วไป ร้านขายของชำ

ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ประกอบด้วย ห้าง/ร้านขนาดกลาง-ใหญ่ ออกแบบร้าน และจัดวางสินค้าเป็นหมวดหมู่ เพื่อความสวยงาม และเป็นระเบียบ บริการทันสมัย เพื่อดึงดูดลูกค้าใช้บริการมากขึ้น การดำเนินธุรกิจ มีทั้งแบบครอบครัวและมืออาชีพ ลงทุนสูงขึ้น และระบบจัดการบริหารงานซับซ้อนมากขึ้น ธุรกิจการค้าแบบใหม่นี้ ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจ 2 รูปแบบ คือ Discount Store หรือ Hypermarket ซึ่งเน้นสินค้าราคาถูก และ Convenience Store ซึ่งเน้นจำนวนสาขา ความสะดวกสบาย สถานที่ตั้งอยู่ใกล้กับผู้บริโภค เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง ธุรกิจรูปแบบนี้ เพิ่งนำเข้าไทยราวต้นทศวรรษ 1990 ทั้งลักษณะร่วมทุนต่างชาติ และนักลงทุนชาวไทยเป็นเจ้าของ ทว่าผลพวงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และผลกระทบเปิดเสรีการค้า ส่งผลธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่ในไทยตกเป็นของชาวต่างชาติ ธุรกิจที่จัดอยู่ค้าปลีกประเภทนี้ ได้แก่

ห้างสรรพสินค้า (Department Store) ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เป็นศูนย์รวมสินค้าทุกชนิดที่มีคุณภาพ เพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าจำนวนมาก ทุกระดับ ครบวงจร (One Stop Shopping) จัดวางสินค้า แบ่งเป็นหมวดหมู่ชัดเจน เพื่อสะดวกการค้นหาและเลือกซื้อ เน้นจำหน่ายเสื้อผ้า เครื่องสำอาง รองเท้า กระเป๋า รูปแบบบริหาร และจัดการ ค่อนข้างซับซ้อน พนักงานมาก และเน้นบริการที่สะดวก รวดเร็ว สร้างความประทับใจให้ลูกค้า ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มคนทำงานที่มีฐานะ อำนาจซื้อสูง สามารถเลือกซื้อสินค้าคุณภาพ

และราคาสูงได้ สถานที่ตั้ง จะอยู่บริเวณชุมชน หรือเป็นศูนย์รวมการค้า ผู้ประกอบการประเภทนี้ เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เดอะมอลล์ โรบินสัน ตั้งฮั่วเส็ง พาต้า เป็นต้น

ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (Supper Center) ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ พัฒนาจากซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า พื้นที่ขายประมาณ 10,000-20,000 ตารางเมตร เน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่หลากหลายและมีมาก ราคาประหยัด คุณภาพสินค้า ตั้งแต่คุณภาพดีจนถึงคุณภาพปานกลาง ส่วนใหญ่กว่า 60% เป็นอาหาร ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เป็นกลุ่มระดับปานกลางลงมา ผู้ประกอบการประเภทนี้ เช่น บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส คาร์ฟูร์ เป็นต้น

ซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) ร้านค้าปลีกเน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นสินค้าสดใหม่ โดยเฉพาะอาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ อาหารสำเร็จรูปต่างๆ ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ทำเลที่ตั้งส่วนใหญ่ จะอยู่ชั้นล่างห้างสรรพสินค้า เพื่อความสะดวกขนถ่ายสินค้า ตัวอย่างผู้ประกอบการประเภทนี้ เช่น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ฟู้ดแลนด์ เป็นต้น

ร้านค้าเงินสดและบริการตนเอง (Cash & Carry) จำหน่ายสินค้าให้ร้านค้าย่อย หรือบุคคลที่ต้องการซื้อสินค้าคราวละจำนวนมาก ราคาขายส่ง หรือราคาค่อนข้างต่ำ ซึ่งจะเอื้อร้านค้าย่อย หรือร้านโชห่วย หาสินค้ามาจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องผ่านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว จำหน่ายสินค้าคุณภาพปานกลาง ส่วนใหญ่กว่า 60% เป็นสินค้าไม่ใช่อาหาร ที่เหลือเป็นอาหาร ลูกค้ายังสามารถสมัครเป็นสมาชิก เพื่อรับข่าวสารเป็นประจำ ที่สำคัญ ลูกค้าต้องบริการตัวเอง จึงมีพนักงานไม่มากนัก ผู้ประกอบการประเภทนี้ เช่น แม็คโคร

ร้านค้าเฉพาะอย่าง (Specialty Store) จำหน่ายสินค้าเฉพาะอย่าง เน้นสินค้าอุปโภคบริโภคเกี่ยวกับเวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง ดูแลผิว ดูแลเส้นผม เป็นสินค้าหลากหลาย ตามลักษณะแฟชั่นและยุคสมัย สินค้าคุณภาพสูง บริการสะดวกและทันสมัย กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือลูกค้าทั่วไป ผู้ประกอบการประเภทนี้ เช่น บู๊ทส์ วัตสัน MARK & SPENCER เป็นต้น

ร้านค้าประชันชนิด (Category Killer) พัฒนาจากร้านขายสินค้าเฉพาะประเภท จุดเด่นคือ สินค้าครบถ้วนประเภทนั้นๆ คล้ายแยกแผนกใดแผนกหนึ่งในห้างสรรพสินค้าออกไว้ต่างหาก นำสินค้าคุณภาพ และลักษณะใช้งานใกล้เคียงกัน แต่ราคาและยี่ห้อต่างกัน จัดวางประชัน เพื่อให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบคุณภาพ และราคาสินค้า ผู้ประกอบการประเภทนี้ ได้แก่ แม็คโครออฟฟิศ พาวเวอร์บาย พาวเวอร์มอลล์ ซูเปอร์สปอร์ต เป็นต้น

ร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) หรือ Minimart ร้านค้าปลีกพัฒนาจากร้านค้าปลีกแบบเก่า หรือร้านขายของชำผสมผสานกับซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ขนาดเล็กกว่า ให้ความสำคัญทำเลที่ตั้งร้านค้าเป็นสำคัญ พื้นที่ค้าขายไม่มากนัก ส่วนใหญ่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน รวมทั้งอาหารและเครื่องดื่มประเภทอาหารจานด่วน สั่งเร็วได้เร็ว สะดวก ราคาไม่แพงเกินไป ทำเลตั้งแหล่งชุมชน

สถานที่บริการน้ำมัน มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ต้องการความสะดวก ต้องการซื้อสินค้าใกล้บ้านหรือใกล้สถานที่ทำงาน และที่สำคัญเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ประกอบการประเภทนี้ เช่น 7-eleven am/pm และ Family Mart เป็นต้น

“วันหน้าทุกคนจะเชื่อในสิ่งที่ผมพูด”

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.)

กล่าวให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับทิศทางการลงทุนของเครือซี.พี.ในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีก ภายหลังจากการทำพิธีซูเปอร์แบรนด์มอลล์ ที่เซี่ยงไฮ้ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2545 ที่ผ่านมาว่า

ในเมืองไทยธุรกิจค้าปลีก ซี.พี.เหลือแต่เซเว่น-อีเลฟเว่นเท่านั้น เพราะเราไปเน้นในประเทศจีน นอกจากซูเปอร์แบรนด์มอลล์ที่เซี่ยงไฮ้แล้ว ยังให้ความสำคัญกับโลตัสเป็นพิเศษ ลงทุนเท่าไหร่เท่ากัน เพราะตนขายของถูก อย่างในมอลล์ต้องขายของแพง ขายให้คนมีเงิน แต่สำหรับโลตัสจะขายให้กับมหาเศรษฐีลงไปจนถึงยาจก ทุกชนชั้นมีสิทธิที่จะเข้ามาซื้อของในโลตัส เพราะคนรวยก็มีสิทธิซื้อของถูก

นอกจากนี้ นายธนินท์กล่าวให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาค้าปลีกเมืองไทยว่า

ร้านโชห่วยเมืองไทยที่เดือดร้อนกันอยู่ในเวลานี้ เพราะยังคิดแบบเก่าๆ ว่า ต้องการกำไรมากๆ พอกำไรมากๆ คนก็ไม่ซื้อ แต่ถ้ากำไรน้อย ขายมาก เรากำไร 2% ขายไป 10 คู่ ในเนื้อที่เท่ากัน ใช้เวลาเท่ากัน ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม มันก็มีกำไร 20% เพราะฉะนั้นการค้าปลีกสมัยใหม่เปลี่ยนยุค ไม่ใช่คนขายถูกแล้วไปห้ามเขาว่าขายไม่ได้ และไปปกป้องคนขายแพง รัฐบาลจะต้องมาส่งเสริมฝึกอบรม จัดให้ร้านค้าปลีกมีประสิทธิภาพ และทำของแพงให้มีราคาถูกให้ประชาชน

การเป็นรัฐบาลที่ถูกต้อง ต้องเข้าข้างคนซื้อ คือ ผู้บริโภค ไม่ใช่เข้าข้างคนขาย แต่แน่นอน การเป็นรัฐบาลก็ต้องดูแล คนขายของถือเป็นลูก ก็ต้องดูแล แต่การดูแลต้องถูกวิธี ทำให้เขาเข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่กลับไปถอยหลังเข้าคลอง ปกป้องความล้าหลัง

เมื่อก่อนเราพัฒนาจากแบกะดิน แผงลอย หาบเร่ รถเข็น ร้านค้า นี่คือประวัติค้าปลีกของโลก จากนั้นก็พัฒนามาเป็นดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์สโตร์ แต่เวลานี้รัฐบาลไทยกำลังใช้วิธีเพื่อให้ค้าปลีกไทยกลับไปที่เดิม ตนอาจจะพูดผิด แต่เอาความจริงมาพูด เพราะทุกท่านยังไม่รู้ว่า ตนเอาพลังงานทั้งหมดมา อยู่ที่นี่เมืองจีน โลตัสตนเหลือหุ้นอยู่นิดเดียว แม็คโครตนก็ถอนหุ้น เหลือแต่เซเว่น-อีเลฟเว่น แต่ที่พูด ตนพูดเพื่อประเทศชาติ

” วันนี้อาจจะไม่เข้าใจ แต่วันหน้าตนว่าทุกคนจะเข้าใจสิ่งที่ตนพูดวันนี้”

ART คัมภีร์ต่ออายุโชห่วย “ท่าดีทีเหลว”

รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ เสนอตั้ง “บริษัท รวมค้าปลีกเข้มแข็ง จำกัด” ชื่อภาษาอังกฤษ Allied Retail Trade : ART เป็นหน่วยงานเอกชนดำเนินการโดยไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งผ่าน ครม. 7 พ.ค. ตั้งเป็นทางการ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา บริษัทดังกล่าว ทุนจดทะเบียน 395 ล้านบาท ให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บอย.) ถือหุ้น 49% สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อม (สสว.) ถือหุ้น 51% เริ่มเปิดดำเนินการต้น ก.ย. แนวทางดำเนินงานเน้นความเป็นเอกเทศ และอิสระการบริหารจัดการองค์กรรูปแบบบริษัทเอกชน ซึ่งกรรมการบริหารจะมีอิสระการตัดสินใจด้วยตนเอง กรอบนโยบายดำเนินธุรกิจบริษัทเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย ให้อยู่รอด และเข้มแข็ง เวทีการค้าระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ อีกทั้งยังทำหน้าที่บริการสนับสนุนด้านการเงิน การลงทุน และสินเชื่อธุรกิจสมาชิก ผ่านกระบวนการจัดการจากหน่วยงานต่างๆ

รวมทั้งส่งเสริมความรู้วิทยาการสมัยใหม่ ตลอดจนให้คำปรึกษาบริการจัดการร้านค้าปลีกค้าส่งต่อเนื่องแก่สมาชิก เป้าหมายโครงการดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ร้านค้าปลีกรายย่อยแข่งขันด้านราคา ต้นทุน กับร้านค้าปลีก ที่เป็นกลุ่มทุนต่างชาติรูปแบบต่างๆ ได้ การจัดตั้งบริษัทรวมค้าปลีกเข้มแข็งนับเป็นแนวทางหนึ่งที่เป็นรูปธรรม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและสามารถช่วยลดปัญหาให้กับผู้ค้าปลีกรายย่อยได้ดีระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็เป็นการยืดอายุธุรกิจค้าปลีกรายย่อย หรือโชห่วยให้ได้มีลมหายใจในอันที่จะต่อสู้กับร้านค้าปลีกกลุ่มทุนต่างชาติทั่วไปได้บ้างในสถานการณ์เฉกเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่มา ณ วันนี้ก็เกิดอาการเป๋เสียแล้ว เพียงแค่เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีจากนายเนวิน ชิดชอบ ที่นั่งแป้นปลุกปั้นมากับมือ แต่พอนายวัฒนา เมืองสุข “เขยขวัญซี.พี.” มานั่งคุมแทน อาการฝันร้ายก็เกิดขึ้นกับโครงการนี้เสียแล้ว

ที่มา http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2002q4/article2002dec21p3.htm

No comments:

Post a Comment