Popular Posts

Wednesday, February 27, 2013

การทำธุรกิจกรีดยางพารา


การทำธุรกิจกรีดยางพารา

นายอนันต์ ลิลา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ช่วงปีที่ผ่านมาสถานการณ์ราคายางพาราทั้งน้ำยางสดและยางแผ่นดิบที่อยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวสวนยางโดยเฉพาะในแหล่งปลูกยางใหม่ทั้งภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เร่งเปิดกรีดยางเร็วก่อนกำหนดเพื่อหวังขายผลผลิตได้ราคาดีและมีผลกำไรเพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว โดยเกษตรกรเปิดกรีดยางต้นเล็กและไม่ได้ขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดให้เปิดกรีดเมื่อมีขนาดเส้นรอบลำต้น 50 เซนติเมตร

การเปิดกรีดยางต้นเล็กทำให้ชาวสวนยางได้รับผลกระทบที่ชัดเจน โดยยางที่มีลำต้นขนาดเล็ก เปลือกจะบางและมีท่อน้ำเลี้ยงน้อย หากเปิดกรีดยางต้นเล็กจะทำให้ยางเติบโตช้า หน้ากรีดเสียหาย สิ้นเปลืองหน้าเปลือกมาก และเกิดปัญหาหน้ายางตาย  ทั้งยังทำให้ผลผลิตน้ำยางลดลงประมาณ 30-60 % ซึ่งเกษตรกรจะสูญเสียผลผลิตเนื้อยางมากถึง ปีละ 117-176  กิโลกรัม/ไร่ ถ้าคิดเทียบราคายางกิโลกรัมละ 100 บาท จะทำให้ชาวสวนยางสูญเสียรายได้ 11,700-17,600 บาท/ไร่/ปี หรือหากเทียบช่วงอายุการกรีดยางประมาณ 25 ปี เกษตรกรจะสูญเสียรายได้ไร่ละประมาณ 3-4 แสนบาท

นอกจากนั้น การเปิดกรีดยางต้นเล็กยังทำให้ช่วงอายุการกรีดยางลดลงไม่ถึง 25 ปี และเนื้อไม้ยางพาราด้อยคุณภาพทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้จากการขายไม้ยางอีกประมาณ60,000 บาท/ไร่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 18 ล้านไร่เศษ มีเนื้อที่ให้ผลผลิตแล้วประมาณ 12 ล้านไร่ ขณะที่มีสวนยางรอเปิดกรีดประมาณ 6  ล้านไร่ ถ้าชาวสวนยางไม่เห็นความสำคัญของการเปิดกรีดยางต้นเล็กที่ไม่ได้ขนาด ประมาณ 50 % ของพื้นที่รอเปิดกรีด คาดว่าจะทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละ 3.5-5 หมื่นล้านบาทต่อปี

ทางด้านนายศักดิ์ศิลป์  โชติสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวสวนยางควรให้ความสำคัญและใส่ใจในการเปิดกรีดหน้ายางใหม่ โดยควรคำนึงถึงข้อปฏิบัติดังนี้ คือ เปิดกรีดยางครั้งแรกในช่วงต้นฤดูหนาวจะช่วยป้องกันไม่ให้หน้ายางตาย ที่สำคัญควรเปิดกรีดต้นยางที่ได้ขนาดตามเกณฑ์มาตรฐาน มีขนาดเส้นรอบต้นไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร โดยวัดที่ระดับความสูงจากพื้นดิน 150 เซนติเมตร และต้องมีจำนวนต้นยางที่ได้ขนาดดังกล่าวไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสวน ซึ่งต้นยางที่ได้ขนาดส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการเจริญเติบโตประมาณ  7-8 ปี

อีกทั้งยังควรใช้ระบบกรีดครึ่งต้นวันเว้นวัน โดยกรีดยางในช่วงเช้าเมื่อมีแสงสว่างแล้ว ด้วยการกรีดให้ตัดท่อน้ำยางมากที่สุดแต่ต้องไม่ถึงเยื่อเจริญ ถือเป็นการกรีดที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูงสุดและช่วยถนอมต้นยางให้มีเวลาพักเพื่อผลิตน้ำยางใหม่ประมาณ 36 ชั่วโมง จึงจะได้ปริมาณน้ำยางปกติเท่าเดิม ทั้งนี้ อย่ากรีดยางในขณะที่ต้นยางเปียกหรือฝนตก และหยุดกรีดยางเมื่อยางผลัดใบ สำหรับต้นยางที่แสดงอาการเปลือกแห้ง ควรใส่ปุ๋ยยางทุกปีๆ ละ 1 กิโลกรัม/ต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง ในช่วงก่อนฤดูฝนและปลายฤดูฝน

“การเปิดกรีดยางต้นเล็กจะทำให้เกษตรกรได้ไม่คุ้มเสีย จึงไม่ควรด่วนใจร้อนเปิดกรีดยางต้นไม่ได้ขนาดหรือเปิดกรีดเร็วก่อนกำหนด  ควรคำนึงถึงความเสียหายที่จะตามมา หากเกษตรกรเปิดกรีดยางต้นได้ขนาดมาตรฐาน จะทำให้ชาวสวนยางได้ผลผลิตสูง และได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุนส่งผลดีต่อภาพรวมด้านเศรษฐกิจของประเทศสูงขึ้น” นายศักดิ์ศิลป์ยังกล่าวต่อไปอีกว่า

“ในช่วงฤดูเปิดกรีดปีนี้ ราคายางในตลาดโลกมีความผันผวนเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป เกษตรกรควรชะลอการเปิดกรีดออกไปเพื่อรอให้ต้นยางเจริญเติบโตได้ขนาด เมื่อเปิดกรีดจะได้รับผลผลิตอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย คุ้มค่ากับการลงทุนในระยะยาว ที่ผ่านมา”
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ “การเปิดกรีดยางใหม่” สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มส่งเสริมการผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. 0-2940-6123 ในวันและเวลาราชการ.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/agriculture/136138 ภาพอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment